เคยสงสัยไหมครับว่าเราเอาแรงมาจากไหน อะไรทำให้เราเคลื่อนไหวได้? หรือทำยังไงนะ เราถึงจะมีพลังมากขึ้น?
ที่จริงแล้วร่างกายเราสามารถสร้างพลังงานได้ 3 วิธีด้วยกันครับ แต่ละวิธีจะถูกเรียกใช้ในโอกาสต่างๆกันออกไป เมื่อเราต้องการเรียกพลังอย่างเร่งด่วน เช่นยกน้ำหนัก ร่างกายก็จะใช้วิธีนึง เมื่อเราต้องออกแรงเป็นเวลานานๆ เช่นการวิ่งมาราธอน ร่างกายก็จะเปลี่ยนไปสร้างพลังงานอีกวิธีนึง ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ดังนั้นถ้าเราเข้าใจระบบการสร้างพลังงานนี้ เราก็สามารถที่จะเลือกแบบฝึกที่เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของเราได้ดีกว่า ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องการสร้างพลังงานนี้กันครับ
กล้ามเนื้อของเราถ้าเปรียบเป็นคนก็เป็นคนที่เลือกกินสุดๆเลยครับ เพราะมันรับพลังงานได้จากแหล่งเดียวเท่านั้น เราเรียกแหล่งพลังงานนั้นว่า ATP (Adenosine Triphosphate)
เจ้าก้อนพลังงานนี้ไม่เสถียรครับ เราสามารถเก็บมันไว้ในร่างกายได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น ในสภาวะปกติร่างกายจะมี ATP เก็บอยู่ในกล้ามเนื้อน้อยขนาดที่ว่าหลังจากเราเริ่มออกแรงมันจะถูกใช้จนหมด ในเวลาเพียงแค่ 10 วินาที หลังจากนั้นร่างกายจะต้องทยอยสร้าง ATP ขึ้นมาใหม่ในระหว่างที่เราออกแรง
เราสามารถสร้าง ATP ได้ 3 วิธีด้วยกัน แบ่งเป็นการสร้างโดยใช้ออกซิเจนช่วย 1 วิธี และไม่ใช้ออกซิเจนช่วยอีก 2 วิธี ซึ่งไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ร่างกายเราก็จะสร้างพลังงานมาจากทั้ง 3 วิธีเสมอ แต่จะแตกต่างกันที่สัดส่วนมากน้อยตามประเภทของกิจกรรมแค่นั้นครับ
การสร้างพลังงานวิธีแรก ง่ายที่สุด เร็วที่สุด คือนำ ATP ที่มีอยู่แล้วน้อยนิดในกล้ามเนื้อมาใช้เลย จึงไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยและไม่ต้องแปลงมาจากสารอาหารใดๆทั้งสิ้น วิธีนี้จะถูกใช้เมื่อร่างกายต้องการพลังงานที่มากในเวลาชั่วพริบตา เช่น วิ่งสปรินท์ 100 เมตร หรือ ยกน้ำหนักมากๆ แต่อย่างที่บอกข้างต้น กล้ามเนื้อเก็บ ATP ไว้เพียงนิดเดียว มันจะหมดในเวลาแค่ 10 วินาทีแรกที่ออกแรง ซึ่งกว่าจะถูกสร้างใหม่จนเต็มก็ต้องกินเวลา 2 - 3 นาที ดังนั้นถ้าเราต้องการพลังงานยาวนานกว่านั้น ร่างกายจะใช้วิธีสร้างพลังงานแบบอื่นเข้ามาช่วย