คุณมีกีฬาหรือกิจกรรมที่คุณชอบอยู่ในใจไหมครับ? กีฬาที่คุณเล่นแล้วสนุกไปกับมันจนอยากทำมันทุกวันไม่มีเบื่อ กีฬาที่คุณเล่นแล้วอยากเล่นให้เก่งยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ กีฬาที่คุณรู้สึกว่ามันเป็นพรสวรรค์ คุณเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนอื่นๆ คุณรู้ตัวดีว่าคุณมีศักยภาพซึ่งยังไม่ได้ถูกดึงมาใช้จนหมด ถ้าคุณรู้สึกแบบนั้น บทความนี้จะทำให้คุณรู้ว่า คุณสามารถนำเวทเทรนนิ่งมาช่วยในทำให้คุณเก่งขึ้นกับกีฬาโปรดของคุณได้อย่างไร โปรแกรมเวทที่เหมาะสมกับคุณจะเป็นแบบไหน และทำไมเวทแบบที่คุณทำอยู่ตอนนี้อาจจะผิดและอาจขัดขวางกีฬาของคุณอยู่ก็เป็นได้ เชิญติดตามครับ
ก่อนที่จะพูดถึงว่าโปรแกรมเวทเทรนนิ่งจะช่วยทำให้คุณเป็นนักกีฬาที่เก่งขึ้นได้อย่างไร มีสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อน สิ่งนั้นเรียกว่า Strength ครับ
Strength หรือความแข็งแกร่ง (ที่เราเห็นเป็นค่าพลังในเกมตะลุยเก็บเลเวลนั่นแหละ) หมายถึง “ความสามารถในการออกแรงกระทำต่อแรงต้านทาน” Strength เป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับกีฬาเกือบทุกประเภท ยกเว้นโขกหมากรุก(แต่ถ้าคุณอยากวางตัวหมากแรงๆกับโต้ะโดยใช้กล้ามแขนอันทรงพลังก็ไม่ว่ากัน) กีฬาหลายอย่างต้องการความแข็งแกร่งครับ มันถูกใช้ในการปะทะ การระเบิดพลังในชั่วเสี้ยววินาที การสร้างความมั่นคงของร่างกาย ผู้ที่มี Strength ที่ดีจะได้เปรียบคนอื่นๆค่อนข้างมาก ซึ่ง Strength แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด แต่บทความนี้ขอเน้นที่ Maximal Strength และ Explosive Strength ซึ่งเป็น Strength ที่สร้างได้จากการเล่นเวท ทั้งสองต่างกันอย่างไรเดี๋ยวเราจะว่ากันต่อไปข้างล่างครับ
ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าการฝึก Strength ทำอย่างไร? หลายคนบอกว่า ไม่เห็นยาก ก็เล่นเวทเทรนนิ่งสิ กล้ามเนื้อจะได้แข็งแรง ถึก บึกบึน ไง
ถูกครับ แต่ถูกแค่ 50% เพราะต้องเล่นให้ถูกวิธีด้วย
คำว่า เวทเทรนนิ่ง หรือที่เราเรียกง่ายๆว่าการเล่นเวทนั้นกว้างมาก Weight แปลว่าน้ำหนัก Weight Training คือการฝึกที่ใช้น้ำหนักเข้ามาช่วยให้กล้ามเนื้อพัฒนาขึ้น และเมื่อพูดคำว่าเล่นเวท โดยทั่วไปเราก็จะหมายถึงการเล่นให้กล้ามใหญ่ขึ้น เราได้ยินกันคุ้นหูว่าการเล่นเวทให้เล่นจำนวน 8-12 ครั้ง 3 เซต แยกวันเล่นกล้ามเนื้อ เล่น 4-6 วันต่อสัปดาห์ อะไรประมาณนี้บ่อยๆใช่ไหมครับ
การเล่นแบบที่กล่าวมามีหลักการคือการสร้างความเครียดให้กับกล้ามเนื้อแต่ละส่วนให้มากที่สุด ณ เวลาหนึ่งๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือจะเกิดการขยายตัวของกล้ามเนื้อในชั้นของเหลวที่หุ้มใยกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว(Sarcoplasmic Hypertrophy) เมื่อพลาสมาในใยกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นมันจึงดูบวมใหญ่ขึ้น การเล่นช่วงจำนวนครั้งประมาณนี้จึงได้ผลดีสำหรับผู้ที่ต้องการเพาะกาย หรือต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของหลายๆคนที่ไปฟิตเนส เราจึงคุ้ยเคยกับตารางการเล่นแบบนี้เป็นส่วนมากนั่นเองครับ
แต่จริงๆแล้วรูปแบบการเล่นเวทไม่ได้มีแค่นี้ครับ การเล่นเวทเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาร่างกายเพื่อเอาไปใช้ในทางกีฬานั้นต่างออกไปมากทีเดียว การเทรนแบบนักเพาะกายทำให้ร่างกายมีขนาดกล้ามเนื้อที่ใหญ่เกินไป เกิดความเทอะทะ ทำให้ความเร็วลดลง ซึ่งความเร็วเป็นอีกสิ่งที่สำคัญมากในกีฬาเกือบทุกประเภท(ยกเว้นเป่ากบ เพราะขนาด กิง ก่อง แก้ว ก็ยังต้องการความเร็วเลย) ดังนั้นโปรแกรมเวทเทรนนิ่งของนักกีฬา จะต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้ร่างกายรีดศักยภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมาให้มากที่สุด โดยที่กล้ามเนื้อไม่ได้ใหญ่จนเกินไป
เราเรียกความแข็งแรงที่สุดที่ทำได้ของกล้ามเนื้อนั้นๆว่า Maximum Strength
ยิ่งเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วและความคล่องตัวอย่าง บาสเก็ตบอล, ฟุตบอล, เทนนิส หรือกีฬาที่มีน้ำหนักมาเกี่ยวอย่าง ชกมวย Maximum Strength ยิ่งสำคัญมากครับ
โปรแกรมเวทเบื้องต้นสำหรับนักกีฬาโดยทั่วไป ควรจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือฝึก Maximum Strength และ Explosive Strength
จริงๆมี Strength ชนิดอื่นอีกมาก เช่น Endurance Strength ซึ่งมีเรื่องของระยะเวลาความอึดมาเกี่ยวข้อง แต่ในบทความนี้เกรงว่าจะยาวเกินไปจึงขอพูดถึงแค่สองแบบหลักๆข้างต้น
Maximum Strength สร้างได้จากการยกเวทที่มีน้ำหนักมากๆ จำนวนครั้งน้อยๆครับ โดยเลือกใช้น้ำหนักประมาณ 85-100% ของค่า 1 RM ยกให้ได้จำนวน 1-5 ครั้ง 4-6 เซต การยกแบบนี้จะเป็นการฝึกระบบประสาท (Nervous System) ซึ่งมีหน้าที่เอาไว้บังคับกล้ามเนื้อนั้นๆ การยกด้วยน้ำหนักมากทำให้เราต้องใช้สมองสั่งการไปที่กล้ามเนื้อมากขึ้น จะทำให้เส้นประสาทที่ทำหน้าที่กระตุ้นกล้ามเนื้อนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น และยิ่งเรามีเส้นประสาทมาสั่งการมากเท่าไรเราก็จะบังคับกล้ามเนื้อนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ออกแรงได้มากขึ้นเท่านั้น
อีกทั้งการฝึกแบบนี้ยังช่วยเพิ่มการเติบโตของกล้ามเนื้อในชั้นใยกล้ามเนื้อ(Myofibril Hypertrophy) ซึ่งคราวนี้โตจากเส้นใยกล้ามเนื้อจริงๆ ไม่เหมือนการเพิ่มขนาดของของเหลวแบบช่วงการเล่น 8-12 ครั้ง ซึ่งการเพิ่มจำนวนของเส้นใยกล้ามเนื้อนี้เปรียบเสมือนเรามีสลิงเหล็กเพิ่มจึงทำให้เราใช้แรงได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดกล้ามเนื้อที่เท่ากัน
จากรูป รูปซ้ายสุดเป็นกล้ามเนื้อปกติ รูปที่สองเป็นการโตของ Sarcoplasm จากการเล่นแบบน้ำหนักปานกลางจำนวนครั้งมาก ส่วนรูปสุดท้ายเป็นการโตของ Myofibril จากการเล่นหนักๆจำนวนครั้งน้อยๆครับ ซึ่งเจ้าเส้นกลมขาวๆตรงกลางคือเส้นใยกล้ามเนื้อซึ่งยิ่งมีมากก็ยิ่งรับแรงได้มากตามไปด้วยนั่นเอง
Explosive Strength หรือ Power นั้นต่างกันออกไปครับ ผู้ที่มี Maximum Strength เยอะคือคนที่ถึกมีแรงเยอะ แต่อาจจะมี Explosive Strength ที่น้อยก็ได้ ลองเอานักยกน้ำหนักซึ่งสามารถยกน้ำหนักสูงสุดได้ 200kg กล้ามแขนเป็นมัดๆมาหวดลูกเทนนิส เมื่อวัดความเร็วของลูกยังไงก็ช้ากว่านักเทนนิสซึ่งแขนเล็กนิดเดียวอย่างแน่นอน เพราะนักเทนนิสมี Explosive Strength ของการเหวี่ยงแขนที่ดีกว่า
Explosive Strength คือความสามารถในการระเบิดแรงให้มากที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุด การฝึกเพื่อเพิ่ม Explosive Strength จะใช้น้ำหนักที่มีขนาดปานกลาง แต่ทำให้เร็ว ยกโดยเลือกใช้น้ำหนักประมาณ 30-45% ของค่า 1 RM จำนวน 1-10 ครั้ง 3-6 เซต โดยทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ (การดูหนังญี่ปุ่นแล้วฝึกแขนด้วยความเร็วสูงไม่นับนะครับ ยกเว้นแท่งน้ำหนักของคุณจะหนัก 10 กิโล อิอิ)
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการใช้เวทเทรนนิ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถในการเล่นกีฬาคือ ต้องเลือกท่าฝึกให้ถูกต้อง ท่าที่ฝึกควรจะเน้นไปที่ท่าพวก Compound Exercise คือท่าที่ใช้กล้ามเนื้อหลายๆส่วนเข้าช่วยกัน เพราะว่าพอเราลงสนามจริงๆกล้ามเนื้อมันไม่ได้แยกส่วนกันทำงานเหมือนในยิมครับ การเล่นแยกส่วนจะทำให้คุณไม่คุ้นเคย การเล่นกีฬาต้องใช้การ วิ่ง กระโดด ไปหน้า ออกข้าง บิดตัว หยุดกลางอากาศ เปลี่ยนองศากะทันหัน ท่าทางพวกนี้เป็นท่าทางที่ร่างกายของเราต้องใช้กล้ามเนื้อหลายมัดทำงานร่วมกัน การฝึกแยกส่วนเช่น Biceps Curl หรือ Leg Extension เพียงอย่างเดียวยิ่งเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บเข้าไปอีกด้วยซ้ำ ท่าที่ควรจะฝึกควรเป็นท่าพวก Squat, Lunge, DeadLift, Pull Up, Dips, Bench Press, Wood Chop, Plank พวกนี้มากกว่าครับเพราะเป็นท่าที่ต้องมีสติในการทำมากกว่าและฝึกความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อได้ดีกว่า
ก่อนจะพูดถึงความถี่ในการฝึกเวทเทรนนิ่ง ขอให้ท่องคำนี้ให้ขึ้นใจไว้ก่อนเลย
ไม่ว่าจะกีฬาอะไรก็ตาม สิ่งที่คุณควรจะต้องให้เวลากับมันมากที่สุดคือการฝึก Skill หรือทักษะของกีฬานั้นๆครับ ถ้าคุณเป็นนักบาสเก็ตบอล ฝึกกระโดด ฝึกชู๊ต ฝึกลงสนามจริงครับ ถ้าคุณชอบเล่นแบตมินตัน มูฟเมนต์ในคอร์ท ฝึกการก้าวท้าว ฝึกข้อมือ ฝึกตีลูกแบตสิครับ กีฬาทุกประเภทต้องมีทักษะที่จำเป็น และทักษะได้มาด้วยการทำซ้ำๆๆๆ เป็นพันเป็นหมื่นครั้งครับ การฝึกเวทขาในยิมทำให้คุณมีกล้ามขาที่แข็งแรงขึ้นแต่ไม่ทำให้คุณยิงลูกฟุตบอลได้ตรงกรอบขึ้น เวลาเกือบทั้งหมดที่คุณมีควรจะเอาไปฝึกทักษะกีฬาที่คุณชอบเพราะมันเป็นทางเดียวที่คุณจะเก่งขึ้นได้(ยกเว้นกีฬาของคุณคือการเล่นเวท อันนั้นก็จัดหนักในยิมไปเลยครับ)
เวทเทรนนิ่งทำแค่ 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้วครับ และแต่ละครั้งก็ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงด้วย เพื่อให้ร่างกายไม่ล้าจากการเล่นเวท และจะได้เอาเวลาที่เหลือไปซ้อมทักษะกีฬาของคุณดีกว่า
การเทรนกล้ามเนื้อจนหมดก๊อกแบบตารางฝึกของนักเพาะกายเป็นข้อห้ามเด็ดขาดครับ การเทรนแบบนั้นใช้สำหรับคนที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อให้โต ซึ่งจะต้องสร้างความเครียดให้กล้ามเนื้อมากๆพักน้อยๆเพื่อให้กล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาดให้มากที่สุดเค้าจึงต้องเล่นต้องเอาจนหมด การเล่นอกทีเดียว 5-6 ท่าจนวันต่อไปรู้สึกระบมจะทำให้คุณไม่สามารถฝึกทักษะกีฬาได้อย่างเต็มที่ และยังเป็นการสร้างความเครียดให้ระบบประสาทมากเกินไปจนอาจเกิดการ overtrain ได้
ถ้าผมได้ตังค์ 5 บาท จากทุกครั้งที่มีคนถามคำถามข้างล่าง ตอนนี้ผมคงมีตังค์ถอยมอไซค์แล้วล่ะ
“คุณชอครับ ผมเล่น ...(เติมกีฬาที่คุณต้องการ) ผมขอตารางฝึก ท่าฝึก จำนวนครั้ง เซต ที่ควรเล่นหน่อยครับ”
ผมเข้าใจครับว่าทุกๆคนคาดหวังว่ามันจะมีตารางฝึกที่สมบูรณ์แบบที่ไม่ว่าใครเอาไปใช้ก็ได้ผลกับทุกคนทันที แต่ความเป็นจริงมันไม่มีหรอกครับ เพราะร่างกายแต่ละคนต่างกันมาก การออกแบบโปรแกรมฝึกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคุณเป็นคนที่วิ่งเร็วอยู่แล้วแต่ล้มง่าย ก็ต้องฝึกร่างกายช่วงบนกับบาลานซ์ ถ้าคุณถึกอยู่แล้วก็ต้องฝึก drill ฝึก Explosive ฝึก Jump จะได้คล่องตัวขึ้น เห็นไหมครับ กีฬาชนิดเดียวกันเล่นตำแหน่งเดียวกันยังฝึกไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นขอให้เข้าใจตรงกันก่อนว่ามันออกแบบตารางฝึกโดยที่ไม่ได้มานั่งคุยกันอย่างละเอียดไม่ได้หรอกครับ
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีไกด์ไลน์คร่าวๆได้ดังนี้ครับ
มีอีกเรื่องที่สำคัญมากที่หลายคนมองข้ามทำให้เกิดอันตรายได้ การเล่นกีฬาใดๆก็ตามมักจะมีการใช้งานกล้ามเนื้อกลุ่มหนึ่งๆอย่างต่อเนื่องซ้ำๆ เช่น การเตะบอล ก็จะใช้การ Extend ของเข่าซ้ำๆกันไป กล้ามเนื้อ Quad หรือต้นขาด้านหน้าจะทำงานซ้ำๆอย่างหนัก ถ้าในห้องเวทคุณไปฝึกกล้ามเนื้อต้นขาหน้าอย่างหนักมากๆอีก ก็อาจจะเกิดการ overuse ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ(Muscle Imbalance) ในภายหลังได้ ในกรณีนี้จึงควรจะต้องฝึกกล้ามเนื้อต้นขาหลัง(Hamstring) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันควบคู่กันไป เพื่อป้องกันไม่ให้เอ็นหัวเข่ามีปัญหาในภายหลัง
จริงๆยังมีรายละเอียดอีกมากที่เกี่ยวกับการใช้เวทเทรนนิ่งเพื่อนำไปเพิ่มศักยภาพทางการกีฬาที่ยังเขียนลงไปไม่หมดเพราะเดี๋ยวทุกคนจะเบื่อซะก่อน นี่เป็นเพียงส่วนพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น แถมกีฬาแต่ละชนิดก็ต้องการรูปแบบฝึกที่แตกต่างกันไป ควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของกีฬานั้นๆจะดีกว่าครับ แต่อย่างน้อยก็หวังว่ามันจะจุดประกายให้เพื่อนๆได้ตระหนักถึงความสำคัญของเวทเทรนนิ่งและการฝึกในแนวทางที่ถูกต้อง ถ้าคุณผู้อ่านสนใจก็นำไปต่อยอดค้นหาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสาขากีฬาที่คุณเล่นเพื่อหาตารางฝึกที่เหมาะกับตัวคุณต่อไปนะครับ